Drawer trigger

จริยศาสตร์อิสลาม

ค.) หน้าที่ของเรากับสังคม เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกคนในสังคมจะต้องช่วยเหลือกันทำงาน เป็นเสมอนกิจกรรมแห่งชีวิต ซึ่งผลของการเพียรพยายามก็ คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับร่วมกัน สังคมเปรียบเสมือนคนร่างใหญ่คนหนึ่ง และสมาชิกแต่ละคนก็ คือ อวัยวะของร่างนั้นซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถ แต่มีความสอดคล้องและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อวัยวะแต่ละส่วนจะให้ประโยชน์ต่อตัวเองและให้ความสมบูรณ์แก่อวัยวะส่วนอื่น ดังนั้น ถ้าอวัยวะส่วนใดของร่างกายไม่ทำงาน ก็จะส่งผลกระทบไปถึงอวัยวะส่วนอื่นทันที หน้าที่ของบุคลากรในสังคมก็เหมือนกับอวัยวะของร่างกาย กล่าวคือ ขณะที่ทำประโยชน์ให้ตนเองก็ต้องให้ประโยชน์กับสังคมด้วย ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวเสมอว่า “มุสลิมเป็นพี่น้องกัน อยู่ในฐานะเรือนร่างเดียวกัน มีจิตใจและเป้าหมายเดียวกัน” ท่านศาสดากล่าวอีกว่า “มุสลิม คือบุคคลที่ให้ความปลอดภัยกับคนอื่นทั้งวาจาและการกระทำ” และกล่าวอีกว่า “ใครก็ตามที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า แต่ไม่สนใจต่อภารกิจของมุสลิมคนอื่น เขาไม่ใช่มุสลิม” 1. ความยุติธรรม อัล-กุรอานและรายงานจากบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้กล่าวว่า “ ความยุติธรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยุติธรรมกับตนเองและสังคม” ความยุติธรรมกับตัวเอง หมายถึง การที่มนุษย์ไม่ทำบาป เช่น ไม่โกหก  ไม่นิทาว่าร้าย ไม่ทำบาปใหญ่และบาปเล็ก ดังนั้น ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติดังกล่าวถือว่าเป็นผู้มีความ ยุติธรรม  และถ้าหากพิจารณาตามหลักการของอิสลามแล้ว  คนที่มีความยุติธรรมสามารถเป็นผู้พิพากษา  เป็นผู้ปกครอง  เป็นผู้นำ  เป็น ผู้วินิจฉัยศาสนา  และมีอาชีพอื่น ๆ ทางสังคมได้ ความยุติธรรมกับสังคม หมายถึง  การที่มนุษย์ได้เคารพในสิทธิของผู้อื่น และของสังคมโดยเสมอภาคกัน  และ ณ กฎหมายของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว  ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน  ไม่มีการเอาเปรียบและล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น  ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง อัลลอฮ ตรัสว่า “แท้จริง อัลลอฮทรงบัญชาให้มีความยุติธรรม” (อัล-กุรอาน บทอัน-นะหลิ โองการที 90) ยังมิโองการและรายงานอีกจำนวนมาก  ได้มีบัญชาให้มนุษย์มีความยุติธรรม  ขณะเดียวกัน พระองค์ได้ทรงสาปแช่งผู้กดขี่และไร้ความยุติธรรม จริยธรรมได้ให้ความหมายคำว่า “ยุติธรรม”  หมายถึง การปฏิบัติตัวอยู่ในสายกลางอันเป็นคุณสมบัติและความเคยชินของจิตใจ  ซึ่งผู้ใดก็ตามที่มีคุณสมบัติดังกล่าว  เขาจะให้ความยุติธรรมกับตนเองและสังคมเสมอ 2. การพูดความจริง คำพูด คือ สื่อในการสร้างความสัมพันธ์และการติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การพูดความจริงจึงถือว่าเป็นการปกป้องแก่นแท้ของความสัจจริงทั้งหลาย  และถือว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นของสังคม  หรืออาจกล่าวได้ว่า  ความสมบูรณ์ของสังคมขึ้นอยู่กับการพูดความจริง  ดังนั้น การพูดความจริงจึงมีคุณประโยชน์นานัปการ เช่น การพูความจริง  เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กันและกัน  และทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากคำพูดของตน การพูดความจริง เป็นเหตุทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง  และไม่ต้องเดือดร้อนเพราะการพูดปด คนที่พูดจริงเท่านั้นมีความซื่อสัตย์ และไม่บิดพลิ้วสัญญา  เพราะคนที่มีความสัจจริงจะแสดงออกทั้งการกระทำและคำพูด การพูดความจริง  เป็นสื่อช่วยป้องกันและขจัดปัญหาความขัดแย้งให้หมดไป  เพราะส่วนมากของความขัดแย้งเกิดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายปฏิเสธความจริง ข้อบกพร่องและความเสื่อมเสียที่ร้ายแรงทีสุดที่มีต่อจริยธรรม และการกระทำที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นเพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่พูดความจริง ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า  “มุสลิมที่แท้จริง คือ ผู้พูดความจริงแม้ว่ามันจะขมขื่น  และความจริงจะสร้างความเสียหายให้กับตนก็ตาม  ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้จิตใจเป็นสุข” 3. การพูดโกหก เมื่อเข้าใจว่าการพูดความจริงคืออะไร  การพูดปดก็จะปรากฏชัดเจนขึ้นมาเอง  ซึ่งถือว่าการพูดปดนั้นเป็นศัตรูตัวฉกาจของสังคม  ส่วนคนพูดปดคือฆาตกรที่น่ากลัวที่มุ่งหวังแต่ทำลายล้างสังคม  เพราะคำพูดปดถ้าจะเปรียบแล้วเหมือนกับวัตถุดิบ หรือสารเคมีประเภททำลาย  ที่มักทำลายและสึกร่อนพลังแห่งการนึกคิดและสติปัญญาของสังคม  อีกมุมหนึ่ง คำพูดปดไม่แตกต่างอะไรไปจากสุราที่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วเมาไม่ได้สติ  ไม่สามารถจำแนกได้ว่าสิ่งดีและไม่ดีคืออะไร ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงถือว่าการพูดปดมดเท็จเป็นความผิดร้ายแรงหรือเป็นบาปใหญ่ และถือว่าคนพูดปดเป็นคนที่ไม่มีศาสนา ซึ่งพวกเขาต้องได้รับโทษทัณฑ์อันแสนสาหัสจากพระผู้เป็นเจ้า  การพูดปดมดเท็จเป็นการกระทำที่ขัดต่อบัญญัติอิสลามและจริยธรรม ท่านศาสดามุฮัมมัด กล่าวว่า “มีคนอยู่สมากลุ่มถึงแม้ว่าเขาจะดำรงนมาซและถือศีลอด  แต่ยังถือว่าเป็นพวก พวกกัลบกลอก (มุนาฟิกีน) อยู่ดีได้แก่ ผู้พูดปดมดเท็จ ผู้บิดพลิ้วสัญญา และผู้ที่ไม่รักษาอะมานะฮ (ของที่ฝากไว้) “ ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า “คนที่ได้ลิ้มรสที่แท้จริงของความศรัทธา คือคนที่ละเว้นการพูดปดแม้ว่าจะล้อเล่นก็ตาม” 4. การนินทาและใส่ร้าย การพูดถึงสิ่งไม่ดีของคนอื่นแม้ว่าจะเป็นความจริงก็ตาม  ถือว่าเป็นการนินทา  แต่ถ้าเป็นความเท็จถือว่าเป็นการใส่ร้าย แน่นอน นอกจากบรรดาศาสดาทั้งหลายและอิมามผู้บริสุทธิ์แล้ว  อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) มิได้ทรงสร้างใครให้เป็นผู้บริสุทธิ์อีกเลย  และเนื่องจากความบกพร่องที่มีอยู่ในตัวนั้นเอง  ทำให้มนุษย์ไม่อาจรอดพ้นจากความผิดพลาดไปได้ แต่อัลลอฮ ทรงปกปิดความผิดเหล่านั้นเอาไว้อย่างมิดชิด  และถ้าหากม่านบังตาที่ปกปิดความบกพร่องของแต่ละคนได้ถูกดึงออก ทุกคนก็จะได้เห็นความน่าขยะแขยงของกันและกันและจะแสดงความรังเกียจออกมา เมื่อเป็นเช่นนั้นสังคมจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ความพินาศย่อมล่มจมต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮ จึงห้ามการนินทาว่าร้า พระองค์ตรัสว่า การนินทาเป็นบาปที่ร้ายแรง จงปล่อยให้เขาสำนึกและปรับปรุงแก้ไขตัวเองดีกว่าการที่เราจะพูดถึง อัล-กุรอาน กล่าวว่า “สูเจ้าอย่ามุ่งจับผิดผู้อื่นและอย่านินทาซึ่งกันและกัน สูเจ้าชอบหรือที่จะกินเนื้อซึ่งป็นซากศพของพี่น้องของเจ้า” (บท อัล-หุจญรอต โองการที่ 12) ส่วนใส่ร้ายผู้อื่นอิสลามถือว่ามีความรุนแรงกว่าการนินทามากมายนัก เพราะทำให้ชีวิตของคน ๆ หนึ่งต้องตกอยู่ในสภาพที่ตายทั้งเป็น ซึ่งความน่ารังเกียจและความเลวร้ายย่อมประจักษ์ชัด ณ ผู้พูดเสมอ อัล-กุรอาน กล่าวว่า “ความจริงแล้ว ผู้ที่ทำการเสกสรรความเท็จขึ้นมา คือ พวกที่ไม่ศรัทธาในโองการของอัลลอฮ และพวกเหล่านั้นเป็นพวกมุสาทั้งสิ้น” (อัล-กุรอาน บท อัน-นะหลิ โองการที่ 105) 5. การทำลายชื่อเสียงของคนอื่น การทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศของผู้อื่น อิสลามถือว่าเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ ซึ่งมีโทษทัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่กรณี ในบางครั้งอาจเป็นการลงโทษทั่วไป และในบางครั้ง คือ การฆ่าให้ตายตกไปตามกัน การทำลายเกียรติของผู้อื่นนอกจากจะถูกลงโทษที่รุนแรงแล้ว ยังเป็นสาเหตุทำให้สายสัมพันธ์ฉันเครือญาติที่อิสลามได้เน้นไว้อย่างหนักต้องได้รับการกระทบกระเทือน และส่งผลถึงข้อบัญญัติบางเรื่อง เช่น มรดกและทายาทผู้รับมรดกต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ความรักและความผูกพันทางครอบครัว อิสลามถือว่าเป็นแก่นและรากหลักที่แท้จริงของสังคม นอกจากนั้นอิสลามยังถือว่าเป็นความผิดขั้นรุนแรง ซึ่งอัลลอฮ ทรงสัญญาไว้แล้วว่าพวกเหล่านี้ต้องถูกลงโทษอย่างสาหัสที่สุด และแม้ว่าจะเป็นความผิดเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้ชื่อเสียง และเกียรติยศของเขาสูญสิ้นไปจากสังคม 6. การติดสินบน ทรัพย์สิน ของกำนัล หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่หยิบยื่นให้แก่บุคคลเพื่อเบี่ยงเบน หรือจูงใจให้ผู้นั้นกระทำหรือไม่กระทำการในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม เรียกว่า “สินบน” อิสลามถือว่าการให้และรับสินบนเป็นบาปใหญ่ และเป็นการทำลายความมั่นคงของสังคมศาสนา และความยุติธรรมของตนเอง ซึ่งต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงทั้งโลกนี้และโลกหน้า อัล-กุรอาน และวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด กล่าวว่า “ผู้ให้ ผู้รับ และผู้เป็นสื่อในการติดสินบน ล้วนแต่ได้รับการสาปแช่งทั้งสิ้น” ท่านอิมาม ญะอฟัร อัซซอดิก (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า “การรับสินบนในความหมายเท่ากับเป็นการปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า” แน่นอน โทษทัณฑ์ที่กล่าวมาเป็นของพวกที่รับสินบนเพื่อทำตามความถูกต้อง หรือเพื่อคามยุติธรรม ดังนั้น การรับสินบนเพื่อทำผิดกฎหมาย หรือเพื่อกดขี่แล้วละก็ โทษย่อมรุนแรงยิ่งกว่าหลายเท่า 7. การลักขโมย ขโมย เป็นอีกพวกหนึ่งที่เป็นพวกบ่อนทำลายความมั่นคงของสังคม เป็นธรรมดาที่ในชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้พยายามทำงานและขวนขวายหาเงินทองด้วยหยาดเหงื่อของตนเอง และพร้อมที่จะปกป้องมันด้วยชีวิตเพื่อให้รอดจากน้ำมือของพวกขโมยและพวกฉ้อฉลทั้งหลาย ก็เพื่อที่จะให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตและเป็นหลักประกันทางสังคม ซึ่งถ้าทรัพย์สินของเขาไม่มีความปลอดภัย ย่ิอมเกิดความปั่นป่วนและวุ่นวายไปทั้งระบบ และไม่ยุติธรรมสำหรับชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่ได้ทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงงานตลอดอายุไขของตนเพื่อทำงานแลกเงิน แต่ต้องมาสูญสิ้นไปเพราะน้ำมือของพวกขโมยหรือพวกฉ้อฉล อิสลามจึงวางโทษที่รุนแรงสำหรับขโมยไว้ว่า พวกเขาต้องถูกตัดนิ้วมือขวาสี่นิ้วด้วยกัน อัล-กุรอาน กล่าวว่า “ขโมยทั้งหญิงและชาย มือขวาของเขาทั้งสองต้องถูกตัดเพื่อตอาบแทนการกระทำที่ทั้งสองได้ก่อขึ้น และเป็นบทลงโทษให้หลาบจำจากอัลลอฮ” (อัล-กุรอาน บท อัล-มาอิดะฮ โองการที 38) และทรัพย์สินหรือข้าวของเครื่องใช้ที่ซื้อด้วยเงินที่ขโมยมาถือว่าไม่อนุมัติให้ใช้ แม้แต่นำไปสวมใส่เพื่อแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า ก็จะไม่ถูกยอมรับ ณ พระองค์ 8. การคบหากับคนดี และเนื่องจากการที่ต้องอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่นในสังคม ฉะนั้นเราจึงมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิถีชีวิตให้กับตนเอง และสามารถที่จะเลือกคบค้าสมาคมกับใครในสังคมก็ได้ในฐานะของเพื่อน  แต่สิ่งที่ต้องระวังตลอดเวลา คือ การลอกเลียนแบบบุคลิกและนิสัยใจคอของเพื่อนสิ่งจะถ่ายทอดโดยอัตโนมัติ อิสลามจึงเน้นว่า  จงเลือกคบแต่เพื่อนที่เป็นคนดี เพราะสิ่งที่เพื่อนควรจะได้รับจากเพื่อน คือ มารยาทที่ดีงาม ความปรารถนาดี ความจริงใจและความมั่นคงในการเป็นมิตรสหายต่อกันที่สำคัญไปกว่านั้นก็ คือ เราได้กลายเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนอื่นและเป็นฐานรากที่มั่นคงองสังคมในวันข้างหน้า ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า “เพื่อนที่ดีที่สุดของท่านคือ เพื่อนที่ชี้นำให้ทำในสิ่งที่ดีงาม” 9. การคบหากับคนไม่ดี ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า “จงออกห่างจากการคบหากับคนไม่ดีเพราะเขาจะชักนำท่านให้เป็นเช่นเดียวกับเขา และตราบใดที่ยังครอบงำท่านให้เป็นเช่นเขาไม่ได้ เขาจะไม่เลิกคบกับท่าน” ท่านอิมาม กล่าวอีกว่า “จงออกห่างจากเพื่อนที่ไม่ดี เพราะเขาจะขายท่านด้วยราคาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” 10. เกียรติยศกับความซื่อสัตย์ อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ได้สร้างมนุษย์ในรูปแบบของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยไม่มีใครสามารถอยู่ตามลำพังคนเดียวโดยไม่คบหากับคนอื่นหรือำมาหากินคนเดียวได้ จากคำอธิบายที่ผ่านมาทำให้ไม่สงสัยเลยว่าเกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งชีวิตนั้น ได้มาด้วยกับการต่อสู้และขวนขวายจนไปถึงยังเป้าหมายของตน โดยปราศจากการพึ่งพาคนอื่น ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นอุปนิสัยดั้งเดิมของมนุษย์ เกียรติยศแห่งชีวิต คือ การที่มนุษย์สามารถนำพาชีวิตของตนให้หลุดพ้นจากสภาพของโคนตรม และการตกเป็นทาสของอารมณ์ใฝ่ต่ำ ในทางตรงกันข้ามอิสลามถือว่าบุคคลที่ไม่มีเกียรติยศ คือ คนที่สอดส่องสายตาของตนเพื่อแสวงหาสิ่งตอบสนองให้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือขายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยเศษสตางค์เพียงเล็กน้อย หรือยอมจำนนต่ออำนาจทั้งหลายทั้งปวงและก้มหัวเยี่ยงทาสที่จงรักภักดีต่อนาย เพียงเพื่อการมีชีวิตที่สะดวกสบายบนโลกนี้เท่านั้น ผู้ที่มีศักดิ์ศรีและเกียรติยศอันเป็นอาภรณ์อันสูงส่งสำหรับชีวิต เขาจะไม่ยอมก้มหัวให้กับสิ่งใด และผู้ใดทั้งสิ้น นอกจากอัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) พระผู้อภิบาลผู้ทรงเกริกก้องเกรียงไกรแต่เพียงผู้เดียว และเขาจะไม่ยอมถอยหลังให้กับศัตรูที่บุกโจมตีเข้ามาอย่างหนักหน่วง และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาถือว่าการปกป้องสัจธรรมและคุณธรรมอันสูงส่ง คือ คุณค่าอันแท้จริงแห่งชีวิต 11. ความโอบอ้อมอารีต่อผู้อ่อนแอกว่า การแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ด้อยโอกาสกว่า คือ มาตรการสำคัญของสังคมทั่วไป ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของคนที่มีความสามารถที่ต้องช่วยเหลือพวกเขา สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิอันชอบธรรม อิสลามได้กำชับถึงหน้าที่และสิทธิตรงนี้ และย้ำเตือนว่าเป็นหน้าที่ของคนที่มีความสามารถต้องดูแลคนที่ด้อยโอกาสและอ่อนแอกว่า อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ได้สัญญากับผู้ที่ประกอบคุณงามความดีและผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีไว้ว่า “พระองค์จะอยู่ร่วมทางและพิทักษ์ผู้ที่ประกอบความดี” “สิ่งที่สูเจ้าได้บริจาคออกไปเป็นผลประโยชน์ที่แท้จริงของสูเจ้าเอง” “สิ่งที่สูเจ้าบริจาคออกไปจะย้อนกลับมาหาสูเจ้าภายหลัง ซึ่งสูเจ้าจะไม่ขาดทุนใดเลย” ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการสร้างสายใยแห่งความรัก และความสัมพันธ์ให้แก่จิตใจของผู้ด้อยโอกาส เป็นการปิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เป็นการลงทุนที่น้อยนิด แต่ได้รับผลกำไรจากการให้เกียรติและเคารพยกย่องอันมากมาย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงให้กับตัวอง ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ว่าบุญคุณนั้นต้องทดแทน เป็นการสร้างความปลอดภัยและความปลาบปลื้มแก่ชนกลุ่มหนึ่งที่หมดหวังในชีวิต และต้องเผชิญกับภยันตรายรอบด้าน ให้มีความหวังขึ้นมา จากการบริจาคที่มองไม่เห็นคุณค่า ได้กลายเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคมให้หมุนไป และฟื้นคืนชีพขึ้นจากความอ่อนแอ ซึ่งบรรดาศาสดาและอิมามได้กล่าวถึงความประเสริฐของความโอบอ้อมอารีไว้อย่างนับไม่ถ้วน 12. การส่งเสริมคุณธรรมความดี คำยกย่องสรรเสริญ คือ บทสรุปประการหนึ่งที่เกิดจากการสร้างความดี ซึ่งตามความเป็นจริงในการสร้างความดีนั้น หากมีการร่วมมือและมีการสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างเต็มรูปแบบ คุณธรรมความดีก็จะบรรลุผลในระดับสูงสุดตามมา เหมือนกับการรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยคนหนึ่ง ถือเป็นการทำความดีอย่างมหาศาล แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาคนไข้จำนวนนับร้อยคนในโรงพยาบาล ไม่อาจเทียบกันได้ เช่นเดียวกับการสอนให้นักศึกษาคนหนึ่งประสบความสำเร็จ อาจารย์ผู้สอนย่อมได้รับคำชมเชยอย่างออกหน้าออกตา แต่อาจารย์ท่านนั้นไม่อาจเทียบได้กับอาจารย์ที่สอนให้นักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นความดีที่เกิดจากการสนับสนุนส่งเสริมที่ถูกต้อง  และถือว่าเป็นคุณธรรมความดีขั้นสูงสุดประการหนึ่ง ภาษาวิชาการเรียกการส่งเสริมคุณธรรมความดีเหล่านี้ว่า  “การเซาะดะเกาะฮที่มีผลต่อเนื่อง”  หมายถึงการบริจาคธรรมที่มีผลต่อเนื่อง ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า “มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ อันเป็นเหตุทำให้มนุษย์มีความเจริญรุ่งเรื่องคือ  การมีบุตรที่ดีและการบริจาคธรรมที่มีผลต่อเนื่อง” ดังที่พบหลักฐานมากมายทั้งจาก อัล-กุรอาน  และแบบฉบับของท่านศาสดาที่กล่าวว่า “เมื่อมนุษย์ได้ทำความดีประการหนึ่ง  พระองค์จะบันทึกความดีของเขาไว้อย่างมากมาย” 13. การล่วงละเมิดต่อทรัพย์สินของเด็กกำพร้า ผู้สร้างคุณธรรมความดี  เป็นที่ยอมรับและย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ  ในทำนองเดียวกัน การก่อกรรมชั่วเป็นสิ่งถูกปฏิเสธและได้รับการประณามสาปแช่ง  อิสลามได้สั่งห้ามการก่อกรรมชั่วและการกดขี่ทุกประเภทอย่างเด็ดขาด  และได้เน้นไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับการกดขี่บางประเภท เช่น  การล่วงละเมิดทรัพย์สินของเด็กกำพร้า  ซึ่งการละเมิดดังกล่าวนี้อิสลามถือว่าเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ และต้องได้รับโทษทัณฑ์อย่างสาหัส  อัล-กุรอาน เน้นว่าผู้ที่กินทรัพย์สินของเด็กกำพร้า  แท้จริงเขาได้กลืนกินไฟนรกลงไป  ซึ่งในไม่ช้าเขาจะถูกจับโยนลงไปในไฟนั้น บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้อธิบายว่าสาเหตุที่ผู้ล่วงละเมิดทรัพย์สินของเด็กพร้าต้องได้รับโทษอย่างรุนแรง  เป็นเพราะว่าถ้าหากพวกเขาได้ล่วงละเมิดทรัพย์สินของคนอื่น  เจ้าทรัพย์ยังสามารถปกป้องทรัพย์สินของตนได้  แต่สำหับเด็กกำพร้าจะไม่มีความสามารถป้องกัน หรือสู้รบตบมือกับใครได้ 14. การคร่าชีวิตผู้อื่น อีกประหนึ่งของการกดขี่ที่อิสลามได้สั่งห้ามเอาไว้อย่างเด็ดขาด คือ  การฆ่าสังหารชีวิตของผู้อื่น  อิสลามได้ประณามและสาปแช่งไว้อย่างรุ่นแรง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังหารชีวิตบริสุทธิ์ของผู้ศรัทธา การสังหารชีวิตผู้อื่นเป็นบาปใหญ่  ดังที่อัลลอฮ ตรัสว่า  การฆ่าชีวิตแม้เพียงชีวิตเดียวก็เหมือนกับได้ฆ่าชีวิตทั้งหมด  เพราะฆาตกรยังอยู่กับสังคม สร้างความบั่นทอนและความหดหู่ใจแก่ผู้พบเห็น  อิสลามถือว่าความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะมีคนเพียงคนเดียว หรือหลายคนก็ตาม มนุษย์ก็คือมนุษย์เหมือนกัน 15. การหมดหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า บาปอันตรายที่สุดในอิสลาม คือ  การหมดหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า  พระองค์ตรัสว่า “จงประกาศเถิด  โอ้มวลข้าทาสของข้าที่หลงระเริงอยู่กับการทำบาป  พวกเจ้าอย่าหมดหวังในความเมตตาของอัลลอฮ  เพราะแท้จริงอัลลอฮทรงอภัยโทษทั้งมวล  พระองค์ทรงเป็นผู้อภัยและเมตตายิ่งเสมอ” (อัล-กุรอาน บทอัซ-ซุมัร โองการที 53) อิสลามถือว่าการหมดหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า  คือ ต้นเหตุที่ทำให้กลายเป็นผู้ปฏิเสธ  เพราะผู้ที่หมดหวังในความเมตตาและการอภัยของพระองค์  จะทำให้จิตใจของพวกเขาห่อเหี่ยวดุจอังเช๋นจิตใจที่ตายด้านที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว  ไม่ดีใจเมื่อได้กระทำความดี และไม่เสียใจเมื่อกระทำความผิดทั้งที่เป็นบาปใหญ่ หรือกระทำความน่ารังเกียจอื่น ๆ เพราะกำลังใจที่แท้จริงของสิ่งเหล่านี้  คือ ความหวังในความเมตตาและการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากไฟนรก  แต่ความหวังเช่นนั้นมิได้มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา  ฉะนั้น จะแตกต่างอะไรกันกับผู้ปฏิเสธคนหนึ่งที่จิตใจของเขาไม่เคยมีความหวังในความเมตตา และไม่เคยภักดีต่อคำสอนของศาสนาแม้แต่นิดเดียว 16. การปกป้องมาตุภูมิ การปกป้องสังคมหรือดินแดนอิสลามอันเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดามุสลิม  เป็นหนึ่งในข้อบังคับ (วาญิบ) ทีสำคัญยิ่งของอิสลาม  ตรัสว่า “และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าได้กล่าวแก่บุคคลที่ถูกฆ่าตายในหนทางของอัลลอฮว่า ตาย  ความจริงพวกเขายังมีชีวิตอยู่แต่สูเจ้าไม่สำนึก” (อัล-กุรอาน บท อัล-บะเกาะเราะฮ โองการที่  154) เลือดของบรรดาผู้ที่ได้หลั่งรินในหนทางของพระเจ้า ชีวิตที่ได้พลีชีพในหนทางของพระองค์ เพื่อธำรงไว้ซึ่งอิสลาม  แม้ว่าจะเป็นความยากลำบากและต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการจากศัตรู  แต่พวกเขามิได้เคยท้อถอยแม้แต่นิดเดียว  สิ่งเหล่านี้ เป็นบทเรียนล้ำค่าที่สุดแก่ชนรุ่นหลัง  เพื่อย้ำเตือนให้สำนึกว่าศาสนาของพวกเขาได้ถูกปกป้องไว้ด้วยเลือดและอุดมการณ์  มันจึงแข็งแรงและธำรงสืบอยู่จนถึงปัจจุบัน 17. การปกป้องสัจธรรม การปกป้องสัจธรรม  ถือว่ามีความล้ำลึกและสำคัญมากกว่าการปกป้องมาตุภูมิของตนเอง  ซึ่งสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์และอุดมการณ์ที่แท้จริงของอิสลาม  อิสลามได้พยายามทำทุกวิถีทางที่จะวางรากฐานและปลูกฝังจิตวิญญาณให้บรรดามุสลิมมีความรักและหวงแหนต่อสัจธรรม  ด้วยเหตุนี้ จึงได้ถูกเรียกว่าเป็นศาสนาที่เที่ยงธรรม  เพราะมีกำเนิดและดำรงอยู่เพื่อสัจธรรมเพียงอย่างเดียว  อัล-กุรอานกล่าวว่า อัล-กุรอาน  เป็นคัมภีร์ที่ชี้นำสู่สัจธรรมและแนวทางที่เที่ยงตรง” (อัล-ุรอาน บท อัล-อะฮฺกอฟ โองการที่ 30) ฉะนั้น  จึงจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุสลิมทั้งหลายที่จะต้องปฏิบัติตาม  ทำ พูดและปกป้องสัจธรรมแม้ว่าต้องเสี่ยงชีวิตก็ตาม 18. ความโกรธ ความโกรธ  คือสภาพของจิตใจที่เกิดจากความไม่พอใจหรือขุ่นเคืองอย่างรุนแรง และคิดที่จะล้างแค้นฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา  ซึ่งตราบใดที่ยังไม่ได้ชำระแค้นจะไม่สบายใจ  คนเราถ้าอยู่ในห้วงอารมณ์ความโกรธจะปราศจากการยับยั้งชังใจ  ควบคุมสติไม่อยู่  อารมณ์จะอยู่เหนือสติสัมปชัญญะ  นึกอะไรได้ก็อยากจะทำทันทีไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตามสภาพจิตใจในเวลานั้นมีความร้ายกาจยิ่งกว่าสัตว์ดุร้าย  และมีความร้อนแรงกว่า เพลิงที่กำลังลุกโชตช่วง  เขาจึงเปรียบเปรยความโกรธว่าเป็นความโง่ โมโหคือความบ้า อิสลามแนะนำว่า  มนุษย์จะต้องรู้จักอดทนอดกลั้นต่อความโกรธ  และกล่าวประณามผู้ที่ผลิตทุกอย่างเพื่อความโกรธแค้น ขณะเดียวกันกล่าวชมเชยผู้ที่มีความอดกลั้นและกลืนความโกรธแค้นลงในทรวงอกและพร้อมที่จะให้อภัยฝ่ายตรงข้ามขณะที่ตนยังโกรธอยู่ อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ตรัสว่า “สวรรค์ของพระองค์ที่มีความกว้างเท่ากับฟากฟ้าและปฐพี  ได้ถูกเตรียมไวเพื่อปวงบ่าวที่ยำเกรง  ซึ่งพวกเขาได้ทำการบริจาคทรัพย์ทั้งในยามสุขและยามเดือดร้อน  และเป็นผู้ระงับความโกรธและให้อภัยแก่ผู้อื่น  ซึ่งอัลลอฮทรงรักผู้ประพฤติดีทั้งหลาย” (อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 134) อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ได้กล่าวถึงคุณสมบัติที่แท้จริงประการหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธาว่า “เมื่อพวกเขามีความโกรธ  พวกเขาก็จะให้อภัย” (อัล-กุรอาน บท อัช-ชูรอ โองการที่ 37) 19. การให้ความสำคัญต่ออาชีพการงาน อิสลามให้ความสำคัญกับเรื่องการงาน  และความอุตสาหะในการประกอบอาชีพเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งตามหลักการของอิสลามแล้วมนุษย์ต้องทำงานและต้องหลีกห่างจากความเกียจคร้าน  ความอุตาหะถือเป็นฐานรากที่มั่นคง  ซึ่งระบบการสร้างของพระผู้เป็นเจ้าก็วางอยู่บนฐานรากดังกล่าว  พระองค์ได้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งขึ้นมาตามความเหมาะสมของมัน  ทรงประทานสื่อในการทำมาหากิน  เพื่อเป็นเครื่องมือแก่ประชาชาติ  เพื่อพวกเขาจะได้หาประโยชน์และขจัดความเดือดร้อนต่าง ๆ จากมัน มนุษย์คือสิ่งถูกสร้างที่ดีที่สุด  มีความละเอียดอ่อนและมีความต้องการในทุก ๆ ด้านมากกว่าสิ่งอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้  มนุษย์จึงต้องอุตสาหะมากกว่าใครทั้งหมด  เพื่อที่ให้ผลของความอุตสาหะนั้นพอเพียงกับความต้องการของตนและครอบครัว  อิสลามเป็นศาสนาที่มีคำสอนครอบคุลมในทุก ๆด้านของชีวิตและสังคม  ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการงานและความอุตสาหะ  อิสลามถือว่าความเกียจคร้านในการประกอบอาชีพเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ  และถือว่าคนที่เกียจคร้านนั้นเป็นตัวถ่วงดุลทำให้สังคมเกิดความล้าหลังและปราศจากการพัฒนาไปสู่ความเจริญ อิสลามถือว่าอาชีพสุจริตทุกประเภทล้วนมีเกียรติทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน  ที่จะต้องประกอบอาชีพตามความเหมาะสมและความถนัดของตัวเองเพื่อให้ได้ปัจจัยในการยังชีพ  และขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นการแบ่งภาระรับผิดชอบแทนสังคม  ทำให้สังคมไม่เกิดปัญหาการว่างงาน อัลลอฮ (ซ.บ) ตรัสว่า “มนุษย์จะไม่ได้รับสิ่งใด  นอกจากสิ่งที่เขาได้อุตสาหะเอาไว้”  (อัล-กุรอาน บท อัน-นัจมุ โองการที่ 39) หมายถึง มนุษย์ทุกคนสามารถไปถึงยังเป้าหมายของตนได้ด้วยความพยายามและอุตสาหะ  เกียจคร้านหรือเป็นคนประเภทหนักไม่เอาเบาไม่สู้นั้น  จึงได้ถูกห้ามปรามไว้อย่างเด็ดขาด 20. การเชื่อมั่นตนเอง หลักการโดยทั่วไปของอิสลามคือ  บรรดาผู้ศรัทธาจะต้องไม่เคารพสักการะสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์)  ต้องไม่เกรงกลัวอำนาจอื่นนอกจากพระองค์  ผู้ซึ่งเป็นผู้อภิบาลแห่งสากลโลก  และต้องมอบหมายความไว้วางใจแก่พระองค์เท่านั้น บรรดาสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระองค์  พระองค์คือผู้ประทานเครื่องยังชีพแก่มนุษย์และสัตว์  ด้วยเหตุนี้ ณ พระองค์และไม่มีใครดีกว่าใคร  ยกเว้นผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระองค์ มนุษย์จะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองและรู้จักใช้ประโยชน์จากเสรีภาพที่พระองค์ได้ประทานให้มา  ต้องรู้จักเลือกสรรสื่อในการประกอบอาชีพตามความสามารถและความถนัดในงาน  มีความเชื่อมั่นต่อการช่วยเหลือของพระองค์  อย่างฝากความหวังไว้กับผู้อื่นและอย่าคิดว่านอกจากพระองค์แล้ว  ยังมีคนอื่นที่คอยช่วยเหลืออยู่อีก  เพราะความคิดและการทำเช่นนั้นเป็นการตั้งภาคีกับพระองค์ การเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่จะนำพามนุษย์ไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จ  และตราบใดที่บุคคลนั้นไม่มีความมั่นใจในตัวเองก็อย่าหวังว่าเขาจะประสบความสำเร็จ  ฉะนั้น ต้องมั่นใจตลอดเวลาว่าเมื่อใดก็ตามที่ลงมือทำงาน  อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) จะให้ความช่วยเหลือและนำความสำเร็จมาสู่  ซึ่งบุคคลอื่นไม่ใช่ที่พึ่งสำหรับตนพวกเขาเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น  และถ้ายังฝากความหวังไว้กับพวกเขาก็เท่ากับว่าเราพยายามที่จะอกตัญญูต่อพระองค์ 21. การโกงตราชั่ง ในการค้าขายสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความซื่อสัตย์ไม่คดโกง อิสลามจึงสั่งห้ามการโกงตราชั่งไว้อย่างเด็ดขาด  อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ได้สาปแช่งพวกที่โกงไว้ว่า “ขอความหายนะจงประสบแก่บรรดาผู้โกงตราชั่ง  และเมื่อพวกเขาตวงเอาจากผู้อื่นเขาจะตวงจนเต็ม  แต่เมื่อพวกเขาตวงหรือชั่งให้กับคนอื่นพวกเขาจะทำให้มันพร่องลง  ไม่คิดหรือว่าพวกเขานั้นจะถูกทำให้ฟื้นในวันที่ยิ่งใหญ่” (อัล-กุรอาน บทอัล-มุฏ็อฟฟิฟีน โองการที่ 1-5) การโกงตราชั่งนอกจากจะเป็นการเอาเปรียบแล้ว  ยังถือเป็นการยักยอกทรัพย์ของผู้อื่น  ทำให้ผู้อื่นขาดความมั่นใจและลูกค้าก็จะลดน้อยลงในที่สุด  ซึ่งตนนั่นแหละเป็นผู้ขาดทุน เนื่องจากทรัพย์ที่ได้จากการโกงตราชั่งเป็นสิ่งต้องห้ามนำไปใช้และบริโภค 22.  การเอาเปรียบหรือการกดขี่ อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ตรัสถึงการเอาเปรียบไว้ในอัล-กุรอาน หลายโองการเพื่อเป็นการย้ำเตือนให้มนุษย์ได้ยับยั้งความคิดและออกห่างการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น  เป็นที่ยอมรับกันถ้วนหน้าว่าการกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ  เป็นการกระทำที่ไม่ดีและเป็นที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งสำหรับสังคม  ซึ่งประชาชนส่วนมากมักจะได้ลิ้มรส  หรืออย่างน้อยสุดก็ได้เห็นหรือได้สัมผัสด้วยตนเองว่าการกดขี่นั้น  มีผลเสียต่อสภาพจิตใจและสังคมอย่างรุนแรงการที่ประชาชนได้สูญเสียอิสรภาพ  สูญเสียผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง หรือชีวิตเลือดเนื้อ และมาตุภูมิของตนสิ่งเหล่านี้เป็นความเลวร้ายที่เกิดจากการกดขี่และการเอารัดเอาเปรียบของผู้มีอำนาจทั้งหลาย อย่างไรก็ตามอิสลามเชื่อว่าวันหนึ่งผู้กดขี่ต้องพบกับความพินาศย่อยยับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ตรัสว่า “แท้จริงแล้วอัลลอฮ  ไม่ทรงชี้นำกลุ่มชนที่กดขี่” (อัล-กุรอาน บท อัล-อันอาม โองการที่ 144) บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า  “บรรดาผู้ปกครองและกษัตริย์จะคงสภาพของผู้ปฏิเสธ  ส่วนผู้กดขี่จะไม่คงสภาพใดเหลือเลย” ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงถือว่าการกดขี่เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจและผิดธรรมชาติของมนุษย์อย่างแท้จริง เป็นการอธรรมทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น การกดขี่นั้นถือว่ามิใช้คุณสมบัติของมนุษย์ทว่าเป็นคุณสมบัติของซาตานมารร้ายและของสัตว์ที่ดุร้าย